วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

เขาสามมุข ท่องเที่ยวพัทยา

เขาสามมุข ท่องเที่ยวพัทยา
เขาสามมุข ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงควบคู่กับหาดบางแสน เป็นทั้งที่ตั้งของศาลเจ้าแม่สามมุขอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของยอดเขาสูงที่มีบรรดาฝูงลิงอาศัยอยู่มาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไปเล่นน้ำที่หาดบางแสน ก่อนเดินทางกลับบ้านมักจะแวะเที่ยวชมที่นี่อยู่บ่อยครั้ง ทั้งบริเวณนี้ยังมีร้านอาหารทะเลขึ้นชื่ออยู่หลายร้านด้วย สิ่งที่น่าสนใจ ในเขาสามมุข *ศาลเจ้าแม่สามมุข*           เจ้าแม่สามมุข เป็นศาลเจ้าจีนที่ตั้งอยู่ บริเวณเชิงหน้าผาเชิงเขาสามมุขด้านทิศเหนือ ย้ายมาจากที่เดิมบริเวณด้านตะวันตกของเขาสามมุข ศาลแห่งนี้มักมีผู้คนแวะมากราบไหว้ขอพร  และบนบานกันอยู่เสมอ  โดยผู้ที่ได้รับผลสำเร็จตามคำขอจะแก้บนโดยการจุดประทัด  และซื้อสร้อยมุขมาถวายแด่รูปปั้นเจ้าแม่  นับเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชาวจีน  ฮ่องกง  และไต้หวัน  นิยมปฏิบัติกันมาก ไม่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น ชั้นบนของศาลเจ้าแม่สามมุข เป็นวิหารพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ให้สักการะ  ส่วนบริเวณหน้าวิหารเป็นระเบียงสำหรับชมวิวทะเล *เขาสามมุข* เขาสามมุข มีถนนวนถึงยอดเขาที่เป็นจุดชมทิวทัศน์ทะเลกว้างไกล ด้านเหนือมองเห็นอ่าวอ่างศิลาที่มีหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่และหอยนางรมปักอยู่เต็มท้องทะเล ส่วนด้านตะวันตกมองเห็นแหลมแท่นต่อเนื่องกับหาดบางแสน หากเป็นวันที่มีอากาศปลอดโปร่งจะมองเห็นเกาะสีชังและตัวเมืองศรีราชา ทั้งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงามมากแห่งหนึ่ง *ลิงเขาสามมุขป่า* ลิงเขาสามมุข เป็นลิงป่าที่อาศัยอยู่ในป่าบนเขาสามมุขมาแต่ดั้งเดิม จะออกมาบริเวณยอดเขาสามมุขตลอดวัน มีจำนวนนับพันหรือมากกว่า นักท่องเที่ยวนิยมซื้ออาหารเลี้ยงลิงจากแม่ค้า เป็นพวกถั่วต้ม ผัก ผลไม้ ขนม ใส่ตะกร้าเล็กๆ ตะกร้าละ 20 บาท ไม่ควรยื่นส่งให้ลิงทั้งถุงหรือห่อ เพราะลิงจะทิ้งถุงเป็นขยะเรี่ยราด สกปรกไปทั่วบริเวณ และให้ระวังลิงเกเรบางตัวเข้ามาแย่งฉวยอาหารจากมือด้วย ที่ตั้ง : อยู่บริเวณแหลมสามมุข บ้านแหลมแท่น ต.แสนสุข อ.เมือง การเดินทาง : เขาสามมุขไม่มีรถสองแถววิ่งผ่าน  ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก  แต่สามารถเช่ารถสองแถวจากตลาดหนองมนให้ไปส่งแล้วรอรับกลับได้ - จากอ่างศิลาไปตามทางหลวงหมายเลข 3134 อีกราว 3 กิโลเมตร พบป้ายบอกทางไปเขาสามมุข เลี้ยวขวาไปตามป้ายอีก 1 กิโลเมตร จนถึงศาลเจ้าแม่สามมุข - จากหาดบางแสน ใช้ถนนเส้นเลียบหาดมุ่งตรงสู่แหลมแท่น จะมีป้ายบอกไปตลอดทาง ห่างจากหาดบางแสนราว 2 กิโลเมตร เวลาทำการ           เขาสามมุขเป็นพื้นที่สาธารณะ  จึงสามารถผ่านไปเยี่ยมชมได้ตลอดเวลา  แต่กลางคืนค่อนข้างเปลี่ยว  นักท่องเที่ยวจึงนิยมไปเยือนและกราบไหว้ศาลเจ้าแม่สามมุขในเวลากลางวัน  จนถึงเวลาประมาณ 18.00น. อัตราค่าเข้าชม :  ฟรี ตำนานอันแสนเศร้า ... ของเขาสามมุข           เมื่อปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาบริเวณบางแสนและเขาสามมุข ยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนหนาแน่นเหมือนปัจจุบันนี้ ชื่อบางแสนและเขาสามมุขก็ยังไม่ปรากฏ จะมีก็เพียงแต่ตำบลอ่างหินอันเป็นชุมชนของชาวประมงริมทะเล ซึ่งปัจจุบันก็คือตำบลอ่างศิลาในปัจจุบัน มีเศรษฐีแห่งอ่างหิน (อ่างศิลา) ซึ่งชาวบ้านรู้จักกันในนามว่า "กำนันบ่าย" มีลูกชายชื่อว่า "แสน" และห่างจากตำบลอ่างหินออกไปพอประมาณมียายหลานอาศัยกันอยู่คู่หนึ่ง ยายมีชื่อเสียงเรียงนามใดไม่ได้ปรากฏไว้ ส่วนหลานสาวนั้นมีชื่อว่า "สาวมุข" หรือ "สามมุข" อาศัยอยู่ในเมืองปลาสร้อย (อำเภอเมืองชลบุรีในปัจจุบัน) "สามมุข" มักจะชอบมานั่งเล่นดูหนุ่มสาวรวมทั้งเด็กที่มาเล่นว่าวในหน้าลมว่าวอยู่ริมเชิงเขาเป็นประจำ และมีเพื่อนที่คอยหยอกล้อเล่นเป็นประจำก็คือลิงป่าที่ลงมาจากเขา อยู่มาวันหนึ่งขณะที่ "สามมุข"กำลังนั่งเล่นอยู่ ก็ได้มีว่าวตัวหนึ่งขาดลอยลงมาตกอยู่ที่หน้าของ "สามมุข" เธอจึงเก็บว่าวตัวนั้นไว้และ มีเด็กหนุ่มชื่อแสนวิ่งตามว่าวที่ขาดลอยมาจึงได้พบกับ "สามมุข" เขาทั้งสองได้รู้จักกันและแสนก็ได้มอบว่าวตัวนั้นไว้เป็นที่ระลึก หลังจากนั้นทั้งสองก็ได้พบปะกันเรื่อยมาจนเกิดเป็นความรัก และได้สาบานต่อหน้าขุนเขา(เขาสามมุขในปัจจุบัน) ว่า "ทั้งสองจะครองรักกันชั่วนิรันดร หากใครผิดคำสาบานนี้จะกระโดดหน้าผาแห่งนี้ตายตามกัน" และแสนได้มอบแหวนวงหนึ่งให้แก่ "สามมุข" ไว้เพื่อเป็นพยาน เมื่อกำนันบ่ายทราบเรื่องเข้าก็เกิดความไม่พอใจ กีดกันและกักบริเวณแสนไว้ จึงทำให้ทั้งสองไม่ได้พบหน้ากัน หลังจากนั้นกำนันบ่ายก็ได้ไปสู่ขอลูกสาวคนทำโป๊ะให้กับแสนและกำหนดพิธีการแต่งงานขึ้น ข่าวนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วอ่างหิน (อ่างศิลา) จน "สามมุข" เองก็ได้รับรู้ถึงข่าวนี้ด้วย ในวันแต่งงานของแสนได้มีการจัดงานกันอย่างใหญ่โต สมเกียรติกับที่เป็นงานของกำนันบ่าย ตลอดระยะเวลาที่แขกได้ทยอยเข้ามารดน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาว แสนได้แต่ก้มหน้านิ่งเสียใจอยู่กับตัวเองที่ไม่สามารถทำอะไรได้ จนกระทั่งแสนรู้สึกว่ามีน้ำสังข์รดลงมาพร้อมกับแหวนวงหนึ่งตกลงมาด้วย แสนจำได้ดีว่าแหวนวงนี้เขาเป็นคนมอบให้ "สามมุข" แต่พอเงยหน้าขึ้น "สามมุข" ก็ได้วิ่งจากไปแล้ว แสนได้หวนคิดถึงคำสาบานที่ได้ให้กับ "สามมุข" ไว้ จึงรีบวิ่งไปที่เชิงเขาแต่ก็สายไป เพราะ "สามมุข" ได้ขึ้นไปที่หน้าผานั้นแล้วทิ้งร่างที่ไร้หัวใจลงดิ่งสู่ก้นผาสิ้นชีพอยู่ริมทะเล แสนผู้ที่ให้คำสาบานไว้กับ "สามมุข" เขาจึงกระโดดลงหน้าผาตาม "สามมุข" หญิงสาวสุดที่รักไป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวพากันเศร้าสลดใจเป็นอย่างมาก จึงพากันสาปแช่งกำนันบ่าย ต่อมากำนันบ่ายจึงได้นำถ้วยชามสิ่งของต่างๆ มาไว้ในถ้ำตรงหน้าผาแห่งนั้นและตั้งชื่อภูเขาลูกนี้ว่า "เขาสามมุข" และชายหาดที่ติดกันว่า "หาดบางแสน" เพื่อเป็นอนุสรณ์รักแด่คนทั้งสองจนถึงปัจจุบัน ต่อมาชาวบ้านในแถบนั้นเล่าว่า "เมื่อตกดึกได้พบเห็นร่างของหญิงสาวมายืนอยู่ตรงหน้าผานั้น เป็นประจำทุกคืน” ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างศาลนี้ขึ้นเพื่อ เป็นที่สิงสถิตและ เป็นที่เคารพสักการะแก่ชาวบ้านและชาวประมงเมื่อเวลาที่จะ ออกเรือไปหาปลามักจะมีการมาจุดประทัดบนบาน ขอให้ได้ปลากลับมาเต็มลำเรือ อย่าต้องเผชิญกับลมพายุบางครั้งเจอลมพายุกลางทะเลก็จุดธูปบน เจ้าแม่สามมุข ให้รอดปลอดภัยจากอันตรายก็สัมฤทธิ์ผลเรื่อยมา จากนั้นเมื่อเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ของ เจ้าแม่สามมุข นั้นแพร่กระจายออกไป ก็มักมีคู่รักชายหญิง มาอธิษฐานขอให้ความรักของตนสมหวัง โดยเขียนชื่อตนกับคนรักไว้บนว่าว แล้วแขวนไว้บริเวณศาลโดยเชื่อกันว่า เจ้าแม่สามมุข จะดลบันดาลให้ทุกคู่รักสมหวัง และไม่พลัดพรากจากกันเหมือนดังในตำนาน   ติดตามข่าวท่องเที่ยวอื่นๆได้ที่ >>> Sanook Travel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น